​​​​    มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เริ่มจากเจตนารมย์ของคุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว นายพลกฤษณ ประโมทะกะ และนายประเสริฐ สมะลาภา โดยนายพลกฤษณ ประโมทะกะ ซึ่งเป็นหลานของคุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว ได้รับเจตนารมณ์ของคุณย่าจึงมาปรึกษาหารือกับนายประเสริฐว่าควรจัดตั้งสถานศึกษาทางด้านช่าง เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่สังคมโดยรวม โดยช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2516 ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนช่างที่มีทักษะทางด้านปฏิบัติ และทฤษฎีประกอบกับนายพลกฤษณ ประโมทะกะ ได้เป็นผู้แทนกสิกรแห่งประเทศไทยร่วมกับข้าราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่องการฟื้นฟูบูรณะชนบทภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Southeast Asia Rural Construction) ร่วมกับผู้แทนประเทศต่างๆ ในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ มติที่สำคัญของการประชุมในครั้งนั้น คือมติเห็นชอบในความร่วมมือเพื่อพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิต ของประชาชนในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ และขณะนั้นผู้ร่วมก่อตั้งอีกท่านหนึ่งคือ นายประเสริฐ สมะลาภา ได้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทในปีพุทธศักราช 2508 ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก SEATO Graduate School of Engineering ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น Asian Institute of Technology หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โดย SEATO นั้นย่อมาจากคำว่า Southeast Asia Treaty Organization ซึ่งเป็นองค์กรที่ร่วมสร้างพันธสัญญาเพื่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ท่านทั้งสองจึงเห็นพ้องว่าควรใช้ชื่อวิทยาลัยที่มีชื่อ " เอเชียอาคเนย์ " หรือ " Southeast Asia " เพื่อให้ดูเป็นสากล และน่าเชื่อถือในวงการการศึกษาด้านวิศวกรรมท่านจึงตั้งชื่อวิทยาลัยว่า " Southeast Asia College " ซึ่งต่อมาวิทยาลัยได้มีการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในนาม " มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (Southeast Asia University) " จวบจนปัจจุบัน

    ต่อมาในปี 2528 มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ได้เปิดคณะวิศวกรรมศาสตร์ระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอน คณะวิศวกรรมศาสตร์ นับเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่นักศึกษาจำนวนมากที่ต้องการศึกษาต่อในคณะวิศวกรรมศสาตร์ที่เคยถูกจำกัดวงในมหาวิทยาลัยของรัฐ

    จากจุดเริ่มต้นของเป้าหมายที่ต้องการสร้างสถาบันศึกษาเพื่อมุ่งประโยชน์แก่สาธารณชนเป็นหลัก มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีองค์ประกอบที่ชัดเจนว่าจะมุ่งให้บริการทางการศึกษา สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนของชาติ โดยร่วมสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถควบคู่จริยธรรมจึงควรที่ประชาชนผู้มีจิตใจใฝ่ประกอบการกุศลแก่สังคมประเทศชาติ จะได้ร่วมมือกัน ตามความรู้ความคิด และความสามารถของแต่ละบุคคลจรรโลงไว้ซึ่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้คงอยู่และเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์อันจะยังความสุขสร้างประโยชน์ กับมวลชนตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้ง

    จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เป็นสถานศึกษาระดับเอกชนของไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาชีวิตนักศึกษา และมีความเลื่อมใสในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีองค์ประกอบที่ชัดแจ้งว่าจะสร้างบุญกุศลให้บริการทางการศึกษาแก่เยาวชนของชาติ จึงควรที่ประชาชนผู้มีจิตใจใฝ่ประกอบการกุศลแก่สังคมประเทศชาติ จักได้ร่วมมือกันตามความรู้ความคิด และความสามารถของแต่ละบุคคลจรรโลงไว้ซึ่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้คงอยู่และเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์อันจะยังความสุขให้แก่คน ทั้งหลายไปตราบชั่วกาลนาน
   
เครื่องหมายของมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ประกอบด้วยเครื่องหมายภาษาไทยสีน้ำเงินเข้มและเครื่องหมายภาษาอังกฤษสีน้ำเงินเข้ม มีรูปร่างเป็นวงกลม โดยมีเส้นรอบวงบางเป็นเส้นนอกสุด และถัดเข้ามาเป็นเส้นรอบวงบาง ห่างจากเส้นรอบวงบางมีเส้นรอบวงหนาอีกอย่างละเส้น ภายในเนื้อที่ของเส้นรอบวงตอนบนเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย ภาษาไทยว่า “มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์” ตอนล่างเป็นชื่อมหาวิทยาลัยภาษาอังกฤษว่า “SOUTHEAST ASIA UNIVERSITY” เนื้อที่ตรงกลางของวงกลมมีรูปแผนที่ประเทศไทยล้อมด้วยภูมิภาคบางส่วนของประเทศต่าง ๆ เช่น พม่า เวียดนาม เขมร มาเลเซีย และพื้นที่บางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย
   
ต้นไทรย้อยร้อยปี ที่จะได้พบเห็นกันคือต้นไทรเก่าแก่ขนาดใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านทอดยาวปกคลุมเป็นร่มเงาในบริเวณเดียวกันซึ่งเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับผืนแผ่นดินนี้ มานับร้อยปีก่อนที่จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ ต้นไทรนี้ชื่อไทรย้อยใบแหลม (Ficusbenjamina Linn หรือชื่อสามัญ Benjamin Tree) ซึ่งเป็นต้นไทรพันธุ์เดียวกับที่พิมายไทรงามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ของอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมาต้นไทรนี้มีอายุกว่า 100 ปี เนื่องจากคนโบราณมีความเชื่อ ที่จะไม่ตัดหรือทำลายต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นไทร หรือ ต้นโพธิ์ ต้นไทรนี้จึงเป็นสัญลักษณ์คู่กับมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์แห่งนี้ตลอดมา
 

รูปปั้นคุณย่าแปลก เหมือนปิ๋ว ผู้มีอุปการะคุณกับมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เป็นรูปปั้นโลหะสัมฤทธิ์สีดำ ในท่านั่ง นับเป็นสิ่งที่เคารพสักการะของลูกหลานเอเชียอาคเนย์ทุกคนสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 ตั้งอยู่ภายในศาลาเรือนไม้ทรงไทยภายใต้ร่มไทรและคุ้งน้ำคล้ายบ้านเดิมของคุณย่าที่ริมคลองบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร

 
นาฬิกาขนาดใหญ่ ยี่ห้อไซโก้ติดตั้ง ณ อาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย ด้านซ้ายมืออาคารพลกฤษณ ประโมทะกะ ในปัจจุบัน เป็นนาฬิกาของขวัญที่บริษัท เมืองทอง จำกัด มอบให้ในวันเปิดวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ด้วยเพราะความศรัทธาในจิตกุศลของผู้ก่อตั้งที่มีเจตนาในการสร้างกุศล ท่านจึงศรัทธาและร่วมสร้างกุศล โดยบริจาคพร้อมทั้งติดตั้งนาฬิกา ไซโก้ ขนาดใหญ่ นี้ ให้เป็นของขวัญในวันเปิดสถาบัน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมพ.ศ. 2516
 
เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
โดยสีน้ำเงิน หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ สีทอง ใช้แทนสีเหลือง หมายถึง พุทธศาสนา เป็นสีที่คล้ายกับสีของจีวรพระในสมัยโบราณ และคำว่า “ทอง” ฟังแล้วเป็นมงคล ดังนั้น สีน้ำเงิน และ สีทอง จึงมีนัยถึง การเทิดทูนชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

ชื่อเต็มภาษาไทย    :   มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
อักษรย่อ :   ม.อ.อ.
ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ :   Southeast Asia University
อักษรย่อ   :   SAU
ปรัชญามหาวิทยาลัย    :   วิริเยนทุกขมจเจติ
    (บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร)
 
     มหาวิทยาลัยแห่งนี้จึงมีองค์ประกอบที่ชัดแจ้งว่าจะให้บริการทางการศึกษา สร้างโอกาส สร้างเยาวชนของชาติในแนวทางวิถีแห่งพุทธศาสนา ร่วมสร้างบัณฑิตที่ความสามารถควบคู่จริยธรรม จึงควรที่ประชาชนผู้มีจิตใจใฝ่ประกอบการกุศลแก่สังคม ประเทศชาติ จักได้ร่วมมือกันตามความรู้ความคิด และความสามารถของแต่ละบุคคล จรรโลงไว้ซึ่งสถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้คงอยู่และเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์อันจะยังความสุข ให้แก่คนทั้งหลาย ไปตราบชั่วกาลนาน

 

 

มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
19/1 ถนนเพชรเกษม (ติดซอยเพชรเกษม 106) เขตหนองแขม กรุงเทพ 10160
โทรศัพท์ : 02-8074500 ต่อ 190, 192 แฟกซ์ : 02-8074528 – 30 อีเมล์ : info@sau.ac.th